สารบัญ

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"จักรยาน" ฉายในเทศกาลปั่นเมือง 25 กุมภาพันธ์ 2555 ณ สวนลุมพินี




สารคดีบอกเล่าถึงประสบการณ์อันน่าทึ่งการเปลี่ยนเมืองหลวงของประเทศโคลอมเบียที่เต็ม­ไปด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม ให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ ปลอดภัยและเศรษฐกิจดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่ปี ด้วยฝีมือของนายกเทศมนตรีใจเด็ด มีเครื่องมือสำคัญคือ "จักรยาน" ฉายในเทศกาลปั่นเมือง 25 กุมภาพันธ์ 2555 ณ สวนลุมพินี


"ประเทศที่พัฒนาแล้ว
ไม่ใช่ประเทศที่คนจนซื้อรถใช้...
แต่คือประเทศที่คนรวยยินดี
ใช้ขนส่งสาธารณะ..."

นายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา

"A developed country is not a place
where the poor have cars.
It's where the rich use public transport."

Mayor of Bogota 


สัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ "อาจารย์นักปั่นจักรยานเพื่อสิ่งแวดล้อม"     พิมพ์
วันพฤหัสบดีที่ 06 มกราคม 2005 เวลา 07:00 น.
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่น ในอดีตปัญหาเรื่องความไม่สมดุลของธรรมชาติยังเกิดขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากคนในยุคต้น ๆ มีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ธรรมชาติสามารถปรับดุลยภาพของตัวเองได้ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ที่อาจเรียกกันได้ว่าเป็น "ทศวรรษแห่งการพัฒนา" ได้ปรากฏปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา สาเหตุหลัก ๆ ของปัญหาสิ่งแวดล้อมคงหนีไม่พ้นเรื่องการเพิ่มขึ้นของประชากร และการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีการใช้พลังงานมากขึ้น ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้มีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นด้วย
สำหรับในประเทศไทย ท่ามกลางสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่นั้น มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับภาพที่ออกมาตามสื่อต่าง ๆ ในฐานะเป็นผู้รณรงค์ให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานเพื่อลดปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศ และเป็นผู้ที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานเป็นชีวิตจิตใจ มีบทบาทสำคัญในการทำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย อีกทั้งท่านยังเป็นเมธีวิจัยอาวุโส รุ่นที่ 1 ของ สกว. ประจำปี 2538 ด้วย ดังนั้นในวันแดดร่มลมตกของเย็นวันหนึ่ง เราได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ซึ่งขณะนี้ท่านเป็นประธานโครงการและที่ปรึกษาโครงการเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียและการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำหลายโครงการ ซึ่งประจำอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นแขกรับเชิญในประชาคมวิจัยฉบับนี้
งานประจำที่อาจารย์รับผิดชอบอยู่ในขณะนี้มีอะไรบ้างคะ
เมื่อก่อนผมเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันงานที่ผมทำอยู่ในขณะนี้จะเน้นนโยบายด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นการประยุกต์งานทางวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างแข็ง ไปเป็นการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) การมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งนุ่มลงมาหน่อย ก่อนหน้านี้ทำประชาพิจารณ์ โดยเป็นประธานกรรมการรื้อโครงการโฮปเวลล์ เป็นคณะวิชาการของการทำประชาพิจารณ์โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ทำประชาพิจารณ์กันแล้ว เพราะเกิดปัญหามาก ขณะนี้กำลังทำเรื่อง ประชาปรึกษา (Public Consultation) ที่โรงไฟฟ้าราชบุรี เราใช้วิธีการตั้งกติกาแล้วไปปรึกษากับประชาชนในพื้นที่ แต่ตรงนี้ยังไม่มีระเบียบออกมา ซึ่งต่างจากการทำประชาพิจารณ์ที่ต้องอิงกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
เพื่อลดปัญหาและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง เราควรดำเนินการควบคู่กับเรื่องอื่นใดอีกบ้าง
การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการไปแล้ว ส่วนมากจะไปมองในแง่ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ไม่พอ เราต้องมองในมิติทางสังคมด้วย ซึ่งมิติทางสังคมนี่แหละทำให้โครงการต่าง ๆ มีปัญหาว่าจะสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ ฉะนั้นโครงการที่ดี ๆ เช่น โครงการบำบัดน้ำเสียในหลาย ๆ แห่ง ปัญหาพื้นที่ทิ้งขยะ มักจะมีประชาชนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ พื้นที่ต่อต้าน ทั้ง ๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นเราจึงต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น มีสิทธิ์มีเสียง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการดำเนินโครงการด้วยตั้งแต่ต้น นอกจากนี้เราควรทำเรื่องเทคนิคพิจารณ์ (Technical Hearing)ก่อน แทนที่จะไปทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ก่อน เพื่อให้นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งประชาชนที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น เข้าใจตัวโครงการในเชิงเทคนิคเสียก่อน
ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ใช้ศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง แต่เป็นการทำงานแบบสหสาขา เช่น หากรัฐบาลนี้จะสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียของเมือง การดำเนินการจึงไม่ใช่มองแต่เฉพาะทางด้านเทคนิคเท่านั้น แต่ต้องมองให้ครบทั้งกระบวนการ คือ ทางด้านเทคนิค สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ คือต้องมองไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะแก้ปัญหานั้นได้ และอีกประการคือ เราต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ข้อมูลตัวเลขที่น่าเชื่อถือและเหมาะสมกับบ้านเมืองเราก่อน แต่ในเมื่อการวิจัยของเรายังไม่แน่น เทคโนโลยีของเราเองก็ยังมีไม่มากพอ เราจึงต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ผมขอพูดในเรื่องที่ผมถนัดคือ ในเรื่องเทคโนโลยีน้ำเสีย เราได้นำเข้าเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย และออกแบบการสร้างโดยใช้ข้อมูลตัวเลขของฝรั่ง ถามว่าผิดหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ผิด แต่เปลืองงบ จริง ๆ แล้วระบบบำบัดน้ำเสียที่ง่ายที่สุดและดีที่สุดในประเทศไทย คือ ระบบบำบัดน้ำเสียตามธรรมชาติ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราควรจะมีความชำนาญข้อมูลเรื่องนี้มากกว่าฝรั่งเสียด้วยซ้ำ
"การดำเนินการจึงไม่ใช่มองแต่เฉพาะทางด้านเทคนิคเท่านั้น แต่ต้องมองให้ครบทั้งกระบวนการ คือ ทางด้านเทคนิค สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ คือต้องมองไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะแก้ปัญหานั้นได้"
ในช่วงชีวิตการทำงานได้เห็นการเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยเป็นไปในทิศทางใด
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว เพราะฉะนั้นจะให้คนมา "ตระหนกและตระหนัก" ให้เกิดจิตสำนึกไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องแม่น้ำเจ้าพระยาเน่าก็แล้วกัน ที่จริงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เน่ามาตั้งนานแล้ว แต่คนไม่เห็น เพราะคิดว่าน้ำเน่า น้ำต้องดำ แต่ในทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าน้ำเน่า สิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้แล้ว เพียงแต่ว่าน้ำยังไม่ดำ เมื่อเป็นเช่นนั้นที่ผ่านมาทุกคนก็เลยไม่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเท่าใด จนกระทั่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนเริ่มเห็นและเริ่มปลูกฝังจิตสำนึกในเด็ก แต่ก็เป็นแค่เรื่องของวิธีคิดและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างเช่น เรื่องของขยะที่มีการรณรงค์กันมาแล้ว 20 กว่าปีว่าไม่ให้ทิ้งขยะ แต่ก็ยังทิ้งกันอยู่เยอะแยะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะมีกระบวนการ มีความพยายาม มีงบประมาณการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ปัญหาลดลง แต่ขณะเดียวกันปัญหาก็ยังทวีความรุนแรง มีปริมาณมากขึ้น ซึ่งเมื่อมารวมกันแล้ว ปัญหาไม่ได้ลดลง แต่กลับมากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ปัญหาอากาศเป็นพิษในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดระยอง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว อากาศสบาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิม แย่ลงไปกว่าทุกวัน
แล้วสิ่งแวดล้อมระหว่างเมืองและชนบทล่ะคะ
ผมว่าเมืองใหญ่ทุกเมืองในประเทศไทย (เมืองในที่นี้ หมายถึง ระยอง เชียงใหม่ เป็นต้น) เอาปัญหาไปทิ้งไว้ที่ชนบท ผมยกตัวอย่างเช่น ปัญหาขยะของกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ มีที่ทิ้งหรือไม่…คำตอบคือ ไม่มี ต้องเอาขยะไปทิ้งนอกเมือง ปล่อยพลังงาน ปล่อยมลพิษไปสู่ชนบท คุณไปดูได้เมืองไหน ๆ ก็นำขยะไปทิ้งนอกเมืองทั้งนั้น ฉะนั้นชนบทจึงเป็นผู้รองรับปัญหา ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากชนบทเอง ที่พูดอย่างนี้ก็หมายความว่าเมื่อชนบทไม่มีงานทำ คนในชนบทก็วิ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นการเพิ่มภาระให้กับกรุงเทพฯ แต่อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้วชนบทก็ยังดีกว่าในเมืองมาก แต่ไม่รู้ทำไมเมืองถึงโตขึ้น ๆ ตัวเลขเริ่มชี้ชัดให้เห็นว่าคนเริ่มย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่คุณภาพชีวิตในเมืองไม่ดีหรอก
มีการนำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมไปใช้ประโยชน์จริงได้มากน้อยเพียงใด
ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผมว่าได้นำไปใช้ได้เยอะนะ อย่างน้อยด้านวิศวกรรมที่ผมทำอยู่ก็ได้นำไปใช้ในการออกแบบ ตอนนี้มีบริษัทในเมืองไทยได้ทำการวิจัยและพัฒนาความรู้ที่เป็นเทคโนโลยีในตำรามาเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้นแล้ว เนื่องจากถ้านำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศจะมีต้นทุนสูงมาก ซึ่งงานวิจัยแบบที่จะนำไปใช้ได้จริงในเมืองไทยมีเยอะนะ แต่ยังไม่พอ เนื่องจากปัญหาที่ต้องทำวิจัยยังมีอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำ แค่หัวข้อเรื่องน้ำอย่างเดียวก็สามารถทำวิจัยอะไรได้อีกเยอะ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของขยะ อากาศ สารพิษ ปัญหาจราจร ฯลฯ ฉะนั้นงานวิจัยที่จะนำไปใช้ได้จริงมี แต่ยังไม่ครบทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การใช้มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์มาทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมลดลง เช่น การเก็บภาษีผู้ผลิตโฟม ซึ่งก็มีงานวิจัยในระดับหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติเรื่องวิทยาศาสตร์ วิธีการทางเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ยังไม่มี การแก้ปัญหาจึงยังไม่เกิด ซึ่งจริง ๆ แล้วมันต้องโยงกับทุกเรื่อง เช่น มาตรการทางกฎหมายก็จะต้องดูว่าหากออกกฎหมายแล้วจะไปกระทบกับใครบ้าง ทางวิทยาศาสตร์ก็จะต้องไปพิสูจน์หาค่าใช้จ่ายเพื่อมาเก็บภาษีที่ตัวโฟม เพื่อให้มีการใช้โฟมลดลง และทางเศรษฐศาสตร์ก็จะต้องมองว่าหากมีกฎหมายนี้แล้ว จะทำให้ประชาชนเสียอะไรบ้าง คือต้องมองภาพใหญ่แบบนี้ ซึ่งงานวิจัยแบบบูรณาการเป็นแผนแม่บทแบบนี้มีน้อย ส่วนใหญ่ทำกันแบบเป็นเศษเป็นเสี้ยว ซึ่งตรงนี้ต้องมีคนคอยมองภาพใหญ่ให้ออก และหยิบงานวิจัยแต่ละชิ้น ๆ มาประกอบกันเป็นจิ๊กซอว์ แต่เท่าที่ผ่านมานักวิจัยส่วนมากยังทำแบบเป็นชิ้น ๆ ซึ่งถ้านำมาต่อกันแล้ว ยังเป็นคนละภาพ หรือแม้กระทั่งบางก็ไม่เป็นภาพด้วยซ้ำ
ความคิดเห็นของอาจารย์ที่มีต่อมาตรการรณรงค์ประหยัดพลังงาน ไฟฟ้า และน้ำมัน
ผมว่ามาตรการรณรงค์ทั้งหมดต้องทำ ต้องมีการรณรงค์ การประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นการสร้างจิตสำนึก ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะยาก แต่ก็ต้องทำ เช่นตอนนี้มีเรื่องการขึ้นราคาน้ำมัน ก็มีคนทำโพล ซึ่งหลายต่อหลายโพลก็บอกไว้ชัดเจนว่า ประชาชนก็เห็นด้วยที่จะต้องมีการประหยัดพลังงาน ทุกคนเห็น ทุกคนรู้ เพราะราคาน้ำมันขึ้นเอา ๆ ทุกคนก็รู้ว่ารัฐบาลกำลังเอาเงินส่วนหนึ่งไปพยุงราคาน้ำมันดีเซล แต่เมื่อไม่มีคนมาบังคับ คนก็ขับรถเล่นไปเรื่อย ๆ ดังนั้นมาตรการบังคับต้องมี ไม่เช่นนั้นจะไม่ครบวงจร เรื่องมาตรการรณรงค์ มาตรการจูงใจ มาตรการประชาสัมพันธ์ก็ต้องทำ จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะไม่เกิดผล
มาตรการทั้งหมดคงต้องมีกฎหมายมารองรับ
ผมว่าเรื่องของวิกฤติน้ำมัน วิกฤติพลังงาน เป็นเรื่องของสงครามประเทศ เมื่อยามศึกต้องรบ มาตรการที่ออกมาคือมันต้องลดอย่างเดียว เป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง เหมือนเมื่อมีศึกสงคราม มันต้องมีการสูญเสีย มีการเสียสละ หรือการยอมไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม เช่น ในศึกยุคโบราณ ผู้คนก็ต้องทานข้าวน้อยลง ต้องแบ่งกันทาน สมัยนี้คนที่มาโวยวาย คนที่มาคัดค้านก็คือ คนที่เสียประโยชน์ ถามว่ามาตรการให้รถวิ่งวันคู่วันคี่ มีคนพูดหรือไม่ ? จริง ๆ แล้วมีคนพูดมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ไม่มีใครกล้าทำ ซึ่งถ้าทำมันก็จะทำให้ลดปัญหาที่ยุ่งยากลงไปได้นานแล้ว แต่นี่คนไทยเราไม่ยอมลดความสบายของตัวเองลงต่างหาก
แล้วเรื่องระบบขนส่งมวลชน หรือการใช้พลังงานอื่นทดแทน
จริง ๆ มีการพูดเรื่องนี้กันมานานแล้ว ระบบขนส่งมวลชนก็ต้องทำ มัวแต่ไปลดภาษีรถยนต์ขนาดเล็ก คนเลยยิ่งแห่กันไปซื้อรถยนต์เล็ก ยิ่งไปกันใหญ่เลย คือ แทนที่จะไปลดการใช้น้ำมัน ปรากฏยิ่งไปเพิ่มการใช้น้ำมัน คือ จำนวนการใช้น้ำมันต่อคันน้อยก็จริง แต่จำนวนรถมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ปัญหาจราจรมากขึ้นเหมือนเดิม เมื่อสมัยก่อนจะมีวิกฤติเศรษฐกิจด้วย
อาจารย์มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องอุบัติภัยจากสารเคมีที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น โรงงานดอกไม้ไฟระเบิด ข่าวไฟลุกไหม้ที่เกิดจากแอลกอฮอล์ที่เป็นเชื้อเพลิงอุ่นอาหารในร้านอาหารชื่อดังอย่างไร
คนไทยเป็นคนที่แปลก ไม่ค่อยเกรงกลัวต่อปัญหาที่ยังไม่เกิด อย่างฝรั่งถ้าเขาเห็นตัวเลขที่ยังไม่เกิด แต่เขารู้ว่าจะเกิดขึ้นแน่ เขาจะหาทางป้องกันไว้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยู่ที่คลองเตยซึ่งมีคลังน้ำมันอยู่บริเวณนั้น คุณรู้ใช่ไหมว่าอันตราย แต่ก็อยู่กันมา 40 ปีแล้ว คนที่ย้ายเข้ามาหรืออยู่กันมานานเขาก็ไม่ย้ายออกกันแล้ว รอวันที่จะระเบิดเท่านั้นเอง
แล้วมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) และเทคโนโลยีสะอาด (Cleaner Technology) เป็นตัวช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับไหน
เรื่อง ISO 14001 สถานประกอบการหรือโรงงานที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ก็ยังสามารถได้รับ ISO 14001 ได้ เพราะ ISO 14001 ไม่ได้หมายความว่า โรงงานคุณกำลังทำงานได้ดีในด้านสิ่งแวดล้อม แต่เขาวัดว่าโรงงานมีนโยบายหรือมาตรการอะไรที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการได้ ISO 14001 ไม่ได้หมายความว่าโรงงานของคุณจะดีด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้คนทั่วไปมักเข้าใจผิด ส่วนเรื่องเทคโนโลยีสะอาด (Cleaner Technology หรือ CT) ดีแน่ ต้องทำในส่วนที่เห็นผลได้ชัด แต่เท่าที่เห็นยังเป็นเพียงแค่แนวคิด ยังไม่ได้ไปจับต้องในเรื่องมลพิษสักเท่าใด เป็นเพียงการแก้ปัญหาในส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น โรงงานบางแห่งทำ CT แล้วทำให้ประหยัดน้ำได้เดือนละ 1,000 กว่าบาท , การเปลี่ยนบัลลาสต์ สตาร์ตเตอร์ ในหลอดไฟ เท่านั้น ซึ่งดี แต่ยังไม่พอ ต้องทำให้ลึกซึ้งกว่านี้อีกเยอะ
"พอตระหนกแล้วก็จะตระหนัก และเกิดจิตสำนึก พอเกิดจิตสำนึกก็จะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนต่าง ๆ นั้นได้ ในแต่ละขั้นตอนต้องมีข้อมูลประกอบ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็คือ ข้อมูลที่ได้จากการวิจัย"
แล้วเราจะทำสำเร็จได้อย่างไร เพราะรู้สึกว่าหากเราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับใด ก็จะเจอกับอุปสรรคทั้งสิ้น
เราต้องสร้างกระบวนการทางความคิดให้คนไทยรู้จักและตระหนกว่ามีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา คนไทยยังไม่ตระหนก เช่น ปัญหาน้ำมันราคาแพง เพราะพอตระหนกแล้วก็จะตระหนัก และเกิดจิตสำนึก พอเกิดจิตสำนึกก็จะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนต่าง ๆ นั้นได้ ในแต่ละขั้นตอนต้องมีข้อมูลประกอบ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็คือ ข้อมูลที่ได้จากการวิจัย และการหาองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งตรงนี้เรายังมีไม่พร้อม เราขาดทั้ง 2 อย่างคือ ขาดทั้งวัฒนธรรมและขาดทั้งองค์ความรู้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็มีการเริ่มบ้างแล้ว และดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น การรณรงค์ให้ใช้จักรยาน ซึ่งผมเริ่มทำเมื่อ 16 ปีที่แล้ว คนหาว่าผมบ้า เพราะใครจะมาขี่จักรยาน การขี่จักรยานมันร้อน แต่ตอนนี้กระแสสังคมตอบรับเรื่องจักรยานมากขึ้น เทศบาลทุกเทศบาลยอมรับแล้ว เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วตอนที่ทำใหม่ ๆ มันเป็นความคิดขึ้นมาเอง พอทำแล้วถึงได้รู้ว่าในต่างประเทศเขาก็ทำกันมานานเป็น 20 ปีแล้วเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ไปเลียนแบบต่างประเทศนะ เราคิดของเราเองและมีบางอย่างเราก็เริ่มทำมาก่อนเขาด้วยซ้ำไป เช่น การจัดทริปจักรยานพาสมาชิกไปสัมผัสชนบท การทอดผ้าป่าด้วยขบวนจักรยาน การสอนเด็กซ่อมจักรยานรีไซเคิล เป็นต้น
ขอทราบบทบาทของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่มีต่อสังคมไทย
ชมรมจักรยานฯ ถือว่าเป็นตัวสร้างกระแสและจุดประกายของสังคมไทย ทำให้จักรยานเข้าไปมีบทบาทในวิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทำได้สำเร็จพอสมควร เกิดมีชมรมจักรยานในจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี ระยอง อุบลราชธานี ขอนแก่น ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี ฯลฯ เรียกว่ามีอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ชมรมฯ ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงไปด้วยว่ารัฐควรต้องทำอะไรบ้าง ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า คนที่ออกแบบทางจักรยาน ไม่เข้าใจการใช้จักรยาน ออกแบบมาแล้วมันก็ใช้งานไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นผู้ใช้จักรยานเอง ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบตะแกรงระบายน้ำตามพื้นถนนที่วางร่องขนานไปกับทางวิ่ง เมื่อเราขี่จักรยานไป ล้อก็จะตกไปในร่องระบายน้ำ ทำให้เราหกล้ม วิธีการทำคือ ควรจะต้องนำตะแกรงมาวางในแนวขวางไว้ เพื่อจะให้คนขี่จักรยานสะดวกขึ้น ซึ่งตรงนี้คนออกแบบทางจักรยานไม่ทราบอย่างนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ทางชมรมฯ ก็ได้สร้างกระแสสังคม เพื่อให้สังคมไปบอกกับผู้บริหารเทศบาลของจังหวัดต่าง ๆ ให้หันกลับมาดูวิธีคิดนี้ว่าสามารถจะทำได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนการรณรงค์ในกรุงเทพฯ คงลำบาก แต่เราหวังผลไปที่ต่างจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี เสียมากกว่า จริง ๆ แล้วกลุ่มคนใช้จักรยานแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ (1) กลุ่มคนใช้จักรยาน (2) กลุ่มนักจักรยาน (3) กลุ่มนักแข่งจักรยาน และ (4) กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบจักรยาน
ซึ่งกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มคนใช้จักรยาน เช่น ชาวนา สาวยาคูลท์ สาวใช้ตามบ้าน ฯลฯ แต่เป็นกลุ่มที่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคมน้อย ซึ่งชมรมจักรยานฯ พยายามทำหน้าที่นี้โดยให้กลุ่มที่เข้าใจเรื่องจักรยานดีที่สุดคือ กลุ่มนักจักรยาน เป็นผู้ทำหน้าที่พูดแทนกลุ่มคนใช้จักรยานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่ชมรมฯ ยังมีข้อด้อยอย่างหนึ่งคือว่า คนของชมรมตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นนักจักรยาน ไม่ใช่คนใช้จักรยาน เราจึงพยายามที่จะปลูกฝังความคิดนี้ในนักจักรยานให้เข้าใจความต้องการของคนใช้จักรยานในสังคม ไม่ใช่พยายามทำให้ตนเองได้มีที่ขี่จักรยานดี ๆ สนุก ๆ แต่ต้องทำให้คนใช้จักรยานมีที่ขี่จักรยานที่ปลอดภัยในชุมชน ที่ผ่านมาเราไปมุ่งหวังให้คนขี่จักรยานไกลเป็นสิบกิโลไปทำงาน แต่คนประเภทนี้เป็นคนส่วนน้อย ต้องเป็นนักขี่จักรยานที่ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว จริง ๆ แล้วเราควรพูดถึงการใช้จักรยานในชุมชนเล็ก ๆ ในรัศมี 2-5 กิโลเมตรก่อนถึงจะได้ผล แต่เราไปคิดแบบ…พูดง่าย ๆ ก็คือ เราไปทำถนนใหญ่ (highway) ก่อน แล้วค่อยทำถนนเล็ก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วใครจะกล้าไปขี่จักรยานไปถนนใหญ่ เช่นเดียวกันถนนที่เป็นเส้นหลัก เมื่อคุณมีทางป้อน (feed line) จากบ้าน คุณก็สามารถขี่จักรยานจากทางป้อนมาสู่ถนนใหญ่ได้ วิธีคิดต้องกลับกันใหม่ว่าต้องไปทำให้เกิดทางจักรยานขึ้นในชุมชนเล็ก ๆ ให้เกิดขึ้นเป็นจุด ๆ แล้วอีกหน่อยก็ค่อยสร้างทางเชื่อมเพื่อเชื่อมระหว่างชุมชนต่ออีกที
"เราจึงพยายามที่จะปลูกฝังความคิดนี้ในนักจักรยานให้เข้าใจความต้องการของคนใช้จักรยานในสังคม ไม่ใช่พยายามทำให้ตนเองได้มีที่ขี่จักรยานดี ๆ สนุก ๆ แต่ต้องทำให้คนใช้จักรยานมีที่ขี่จักรยานที่ปลอดภัยในชุมชน"
เส้นทางจักรยานแบบที่ว่านี้ ได้เกิดขึ้นที่ใดบ้างแล้วคะ
มีในต่างจังหวัดบ้างแล้ว แต่ยังเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้ เช่นที่นครปฐม แต่ไม่ได้ผล นอกจากนี้ก็มีที่ จ.เชียงใหม่, อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, จ.พิจิตร และ จ. อุบลราชธานี ดังนั้นเพื่อจะให้ได้ผลจะต้องสร้าง 2 อย่างไปพร้อม ๆ กันคือ สร้างโครงสร้างทางกายภาพและสร้างกระแสสังคม อย่างที่บอกแล้วในตอนต้น
เท่าที่เห็น อย่างคนที่ใช้จักรยานในเมือง ก็มักจะถูกบีบแตรไล่ และที่คนมักไม่ค่อยใช้กันก็เพราะเมืองไทยอากาศร้อน มลพิษเยอะ
ประเด็นเหล่านี้ ผมสามารถโต้แย้งได้หมด เรื่องควันพิษเนี่ยนะ คุณนั่งหลังรถตุ๊กตุ๊ก ที่จอดอยู่หลังรถเมล์ คุณก็ได้แต่เอาผ้าปิดจมูก หรือคุณนั่งในรถยนต์ที่จอดอยู่หลังรถเมล์ คุณก็สูดกลิ่น คุณไม่สามารถทำอะไรได้ และมลพิษก็พิสูจน์แล้วว่าข้างนอกกับข้างในรถไม่ต่างกัน แต่ถ้าคุณใช้รถจักรยาน คุณก็กลั้นหายใจหน่อย แล้วขี่หลบไปทางอื่นได้ เรื่องอากาศร้อน อินเดียก็ร้อน พม่าก็ร้อน แต่เขาก็ใช้กันทั้งเมือง ปัญหาคือ คนที่บอกว่าร้อน และบอกว่าใช้งานจักรยานไม่ได้ จะเป็นคนที่มีสถานะทางสังคมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่มีเสียงดัง แต่คนที่ใช้จักรยานกันจริง ๆ เขามีเสียงไม่ดัง เช่น พวกภารโรง พนักงานระดับล่าง ซึ่งปัญหาอากาศร้อนไม่เป็นปัญหาสำหรับเขานะ ฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าเรากำลังพูดแทนคนกลุ่มใหญ่ที่ใช้จักรยาน ซึ่งเป็นคนระดับล่างและไม่มีสิทธิ์มีเสียง ซึ่งผมกำลังตะโกนแทนเขา
และถ้าจะให้มีการใช้จักรยานมากขึ้น เราควรต้องทำอย่างไร
ถ้าคุณสามารถทำให้ท่านนายกทักษิณ ขี่จักรยานจากบ้านที่ฝั่งธนมาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลนะ รับรองทางจักรยานเกิดขึ้นแน่ เพราะคุณจะรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันทีว่าอะไรที่ต้องทำ และอะไรที่ไม่ต้องทำ เราคงต้องดูตัวอย่างรัฐมนตรีของประเทศในแถบยุโรป เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ที่เขาขี่จักรยานไปทำงานกัน ซึ่งมีเยอะ ที่นั่นมีที่จอดจักรยานติดมิเตอร์ด้วย ซึ่งในบ้านเราไม่มีและยังไม่ได้ให้ความสำคัญ บอกกันแต่ว่าทางจักรยานในกรุงเทพฯ เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ จริง ๆ แล้ว มันอยู่ที่วิธีคิด ซึ่งผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าสถานะทางสังคมของคุณจะเป็นอย่างไร คุณก็สามารถใช้จักรยานได้ คนมักจะมองว่าคนในสถานะทางสังคมอีกระดับ ไม่มีทักษะพอ หรือสถานะทางสังคมไม่เอื้ออำนวยให้ทำ ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ ทักษะสามารถมีได้ สร้างได้ และสถานะทางสังคมก็ไม่ได้เป็นคำตอบว่า ถ้าคุณมีสถานะทางสังคมแบบนี้ ขี่จักรยานไม่ได้ แต่หากคุณทำได้ มันกลับจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่สังคมด้วยซ้ำไป
อาจารย์คิดว่าเมืองในอุดมคติน่าจะประกอบด้วยอะไรบ้างคะ
เอาที่สื่อสารให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ก็แล้วกัน คือว่า เมืองนั้นจะต้องทำให้การเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น โจทย์นี้เพียงโจทย์เดียวถ้าทำได้ก็เก่งแล้ว และอีกเรื่องคือ ทันทีที่คุณก้าวเดินออกจากบ้านแล้วคุณออกวิ่งได้หรือขี่จักรยานได้ นั่นก็คือเมืองน่าอยู่ คุณลองคิดถึงภาพที่คุณอยู่แม่ฮ่องสอนสิว่า คุณสามารถทำแบบนี้ได้อย่างสบายมากและเมืองแม่ฮ่องสอนน่าอยู่กว่ากรุงเทพฯไม่ใช่หรือ ก็ทำเมืองใหญ่ให้น่าอยู่แบบเมืองเล็กสิ ในยุโรปเขาจะมีวิธีคิดที่ทำให้การขับรถยนต์ส่วนตัวนั้นไม่สะดวกมาก ๆ เพื่อคนจะได้เลิกใช้รถยนต์ แต่ตอนนี้เรากำลังทำทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนใช้รถมากกว่ารถเมล์ รถจักรยาน และคนเดิน เราจึงไปไม่ถึงไหนสักทีในเรื่องสิ่งแวดล้อมของเมือง
เส้นทางจักรยานในกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครโดยสำนักการจราจรและขนส่ง ได้กำหนดแผนสำหรับปรับปรุงและสร้างเส้นทางจักรยาน โดยแผนระยะสั้นภายใน 1 ปี จะทำการปรับปรุงเส้นทางจักรยานเดิมที่ถนนหลวงประดิษฐมนูธรรม ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร และทางจักรยานที่ถนนเพชรเกษมช่วงตั้งแต่บางแค-สุดถนนเพชรเกษม ระยะทางประมาณ 6-7 กิโลเมตร โดยจะเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น โดยทั้ง 2 เส้นทางเป็นเส้นทางเดิมที่สร้างไว้ แต่ปัจจุบันบางจุดชำรุด จึงไม่มีผู้ไปใช้และทำให้มีการวางสิ่งของกีดขวาง ทั้งที่เป็นเส้นทางที่เหมาะสมเพราะมีเขตทางที่กว้าง นอกจากนี้ยังรับผลการศึกษาจาก รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งศึกษาเส้นทางจักรยานที่เหมาะสมอีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางจากชุมชนดินแดงมายังห้วยขวางเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน และอีกเส้นทางคือ จากเคหะธนบุรีเชื่อมโยงสู่รถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีตากสิน ผลจากการวิจัยหากมีทางจักรยานที่ดีปลอดภัยแล้ว ประชาชนกว่าครึ่งจะเปลี่ยนมาใช้ทางจักรยาน นอกจากนี้สำนักการจราจรและขนส่งยังได้ประสานกับฝ่ายโยธาเขตทั้ง 50 เขตของ กทม. เพื่อสำรวจเส้นทางจักรยานที่เหมาะสมระยะทางประมาณ 1-3 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมสู่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ.
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. โทร 02-298-0455 ต่อ 124,121
สัมภาษณ์ : ขวัญชนก
ที่มา ประชาคมวิจัยฉบับที่ 58



1 ความคิดเห็น:

Hatyai Cycling Group-เครือข่ายจักรยานหาดใหญ่ กล่าวว่า...

"คนไทย(เน้นที่นักการเมือง)มีศักศรีเยอะ.....ก็เลยไม่ค่อยทำตามก้นใคร.....แม้ในเรื่องที่ดีๆ.."

Hatyai Car-free day 2020

หาดใหญ่ คาร์ฟรีเดย์ 22 กันยายน 2563