สารบัญ

วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561

ปรกติที่ไม่ปกติ


   ปรกติที่ไม่ปกติ

          กรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถานหลายท่านต่างพากันสงสัยว่า ทำไมหน่วยงานอื่นใช้ “ปกติ” แต่เอกสารที่ราชบัณฑิตยสถานจัดทำขึ้นมักใช้ “ปรกติ” มีเหตุผลอะไรหรือไม่อย่างไร
          คำ “ปกติ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำอ่านว่า “ปะกะติ ปกกะติ” เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ธรรมดา เป็นไปตามเคย ไม่แปลกไปจากธรรมดา ปรกติ ก็ว่า และระบุว่าภาษาบาลีเป็น ปกติ ส่วนภาษาสันสกฤตเป็น ปฺรกฺฤติ 
          ส่วน “ปรกติ” พจนานุกรมฯ ให้คำอ่านว่า ปฺรกกะติ เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ธรรมดา เช่น ตามปรกติ เป็นไปตามเคย เช่น เหตุการณ์ปรกติ ไม่แปลกไปจากธรรมดา เช่น อาการปรกติ ปกติ ก็ว่า และระบุว่าภาษาสันสกฤตเป็น “ปฺรกฺฤติ”
          คำ “ปกติ” นั้นมาจากภาษาบาลี เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยก็ใช้ “ปกติ” ตรงตัว แต่คำ “ปรกติ” นั้น พจนานุกรมฯ ระบุว่าภาษาสันสกฤตคือ “ปฺรกฺฤติ” จะเห็นได้ว่า เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย จะไม่ใช้ตรงตามภาษาสันสกฤต ตัวอย่างการใช้คำในลักษณะเช่นนี้ที่เห็นได้ชัดเจน คือ คำว่า “สถูป”
          ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้อธิบายว่า “คำว่า ‘สถูป’ ในภาษาไทยนั้น ถ้าเป็นภาษาบาลีเขียนว่า ‘ถูป’ ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตเขียนว่า ‘สตูป’ แต่ทั้ง ๒ คำ ถ้าออกเสียงแบบไทยเป็น ‘ถูบ’ หรือ ‘สะตูบ’ ไม่เพราะทั้ง ๒ แบบ บรรพบุรุษของเราก็เอาตัว ‘ส’ มาจากคำว่า ‘สตูป’ ในภาษาสันสกฤตมาไว้หน้า ‘ถูป’ ซึ่งเป็นคำบาลี จึงกลายเป็น ‘สถูป’ (สะ-ถูบ) ในภาษาไทย ซึ่งมีเสียงเพราะกว่า ‘ถูป’ (ถูบ) และ ‘สตูป’ (สะ-ตูบ) อย่างมากมาย”
          ส่วนเหตุผลที่ราชบัณฑิตยสถานใช้ “ปรกติ” นั้น มีอยู่ว่า อาจารย์อาวุโสด้านภาษาไทยท่านหนึ่งแนะนำว่า ถ้าราชบัณฑิตยสถานไม่ใช้ แล้วต่อไปใครจะใช้คำนี้ เพราะทุกคนหันไปใช้ “ปกติ” กันหมด ดังนั้น การใช้คำ “ปรกติ” จึงอยู่ในคู่มือการบรรณาธิกรงานของราชบัณฑิตยสถานซึ่งนักวรรณศิลป์ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติสืบต่อกันมา

http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B9%92%E0%B9%90-%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B2

ไม่มีความคิดเห็น:

Hatyai Car-free day 2020

หาดใหญ่ คาร์ฟรีเดย์ 22 กันยายน 2563