สารบัญ

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ระบบจักรยานที่ยั่งยืน ประชาชนต้องยอมรับเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน


ระบบจักรยานที่ยั่งยืน ประชาชนต้องยอมรับเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน

โดย Chayut Ratanapong เมื่อ 10 มิถุนายน 2011 เวลา 14:56 น. ·
……การพัฒนาระบบจักรยาน ถ้าจะให้ยั่งยืน น่าจะต้องไปให้ถึงขั้นที่ประชาชนยอมรับ เข้ามาเป็นการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ประเทศเนเธอร์แลนด์เขาไปถึงขั้น “วัฒนธรรมการใช้จักรยานในการเดินทางระยะใกล้” กันแล้ว กลุ่มผู้ใช้จักรยานเมืองเขาเป็นคนค่อนข้างมีฐานะ ไม่มองการใช้จักรยานเป็นเรื่องต่ำต้อยทางสังคม ในเนเธอร์แลนด์จึงไม่จำต้องมีทริป CM แบบอเมริกา
……ส่วนอังกฤษนั้น แม้ทางการจะสร้างระบบทางจักรยานได้ดี แต่ก็ยังมีคนใช้จักรยานน้อยกว่าเนเธอร์แลนด์หลายเท่า ในอังกฤษจึงมีผู้นำกลยุทธ์ London Cycle Chic (จักรยานเก๋ไก๋) มาใช้ เช่น ชักชวนจักรยานน่ารักๆ และจักรยานฟิกซ์เกียร์ มาขี่ในเมืองกันในวันอาทิตย์ ซึ่งมีการปิดถนนให้จักรยานเข้าไปขี่อย่างปลอดโปร่งโล่งใจด้วย ในเมืองไทยก็กำลังจะมีคนทำคล้ายๆ กับแนวคิดนี้
……ถ้าเราให้ความสำคัญกับการสำรวจชุมชน ที่มีโอกาสเพิ่มผู้ใช้จักรยานได้มากๆ และพัฒนาเจาะตรงลงไปที่ชุมชนเหล่านั้น นอกจากจะได้ชุมชนจักรยานที่เป็นโมเดลให้แก่ชุมชนอื่นๆ ได้แล้ว ก็จะไม่เกิดสภาพสร้างแล้วไม่มีคนไปใช้อย่างเช่นที่ผ่านๆ มา … ถ้าสื่อช่วยกระพือเยอะๆ แล้วสำเร็จได้จริงนั้น 20 ปีที่ผ่านมาก็คงจะมีเส้นทางที่ประสบความสำเร็จให้เห็นบ้างแล้วหละ … แต่ทุกวันนี้ ยังไม่เป็นรูปธรรมของการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเลย
……ถ้ากรุงเทพมหานคร ประเมินโครงการที่จัดจักรยานไปไว้ตามจุดในเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวไปยืมใช้นั้น ก็อาจพบว่า พฤติกรรมการเดินทางระยะใกล้ ในชีวิตประจำวันของนักท่องเที่ยวเหล่านั้น มิได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ รูปแบบการเดินทาง (mode) ด้วยจักรยานสักเท่าใดเลย
……ในขณะเดียวกัน ชาวชุมชนที่อยู่ในเงื่อนไข ที่อาจเป็นผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ กลับไม่มีโอกาสได้รับสิทธิในการยืมจักรยานใช้ฟรี ทั้งนี้ เพราะเกาะรัตนโกสินทร์มิได้อยู่ใกล้บ้านของเขา เช่นที่คลองเตย คลองลาดพร้าว คลองบางบัว และคลองชักพระ ฯลฯ
……กลยุทธการพัฒนาระบบจักรยานในแต่ละเส้นทางนั้น ไม่น่าสำรวจเพียงทางที่จักรยานไปได้ แต่ควรสำรวจด้วยว่า ชุมชนใดมีโอกาสเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานได้อีกเป็นจำนวนมาก และจุดปลายทางส่วนใหญ่ของแต่ละชุมชนอยู่ที่ใดบ้าง ซึ่งถ้ามีการสำรวจดังกล่าว ก็จะสามารถระบุสถานที่เหล่านี้ลงในแผนที่ได้ด้วย
……ทริปที่สอดคล้องกับสถานการณ์เด่นๆ นั้น สัมพันธ์กับผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงหรือ ? และนำไปสู่โอกาสแห่งการได้ทางจักรยานที่สอดคล้อง ระหว่างบ้านกับจุดปลายทางในชีวิตประจำวันของเขาเหล่านั้นจริงหรือ ? ถ้าใช่ ก็ถูกทาง
……แต่ถ้าไม่ใช่ ก็น่าจะถามไถ่ชาวชุมชนซะหน่อยก่อนว่า เขาต้องการเส้นทางจากชุมชนของเขาให้เชื่อมไปถึงที่ใด อาจจะเป็น สถานศึกษา วัด ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานีระบบขนส่งมวลชน จุดต่อรถ สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงงาน สถานพยาบาล สถานที่ท่องเที่ยว และสวนสาธารณะ ก็จะได้ข้อมูลที่ทำให้นักการเมืองเชื่อมั่นว่า เมื่อมีการพัฒนาเส้นทางจักรยานจากชุมชนใด ไปยังสถานที่ใด ก็จะมีการใช้จักรยานเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง แล้วเขาก็จะเกิดแรงจูงใจในการอยากสร้างขึ้นได้เอง อาจเป็นโมเดลได้ด้วย จะได้ไม่เลื่อนลอยดังเช่นหลายเส้นทาง ที่ไม่ค่อยมีการใช้จักรยานเกิดขึ้น
……ความเป็นเวนิชตะวันออกของกรุงเทพมหานครนั้น มีร่องรอยเส้นทางการใช้จักรยานอยู่บ้างแล้วหลายแห่ง เช่น คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ส่วนฝังธนฯ ก็มีคลองชักพระ คลองภาษีเจริญ เป็นต้น สามารถพัฒนาได้เลย ซึ่งถ้ามีการพัฒนาเส้นทางริมคลองทั้งสองฝั่ง นอกจากจะได้เส้นทางจักรยานเชื่อมระหว่างชุมชนริมคลองด้วยกันแล้ว ก็ยังสามารถพัฒนาในเส้นทางที่แยกไปยังโรงเรียนต่างๆ ได้อีก อันเป็นหลักการตามแนวคิดในการพัฒนาระบบจักรยาน ซึ่งเมื่อสร้างแล้วจะมีคนไปใช้เส้นทางจักรยานเป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบันก็มีผู้ใช้จักรยานในเส้นทางเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยสะดวกเท่าที่ควร
……การเข้าถึงชุมชน ทำให้ทราบความในใจของชาวชุมชน ได้ดีกว่าการออกแบบโดยอิงแนวคิดและหลักการจากต่างประเทศ เพราะบริบทของชุมชนต่างกัน การประเมินความต้องการจำเป็น จะป้องกันความผิดพลาดได้ดีกว่าที่จะพิจารณาจาก แผนที่ที่ไม่มีต้นทางและปลายทางอยู่ในใจของคนในชุมชน เราจึงควรเน้นการพัฒนาเพื่อคนที่จะเป็นผู้ใช้จักรยานในถิ่นนั้น มิใช่เพื่อให้คนถิ่นอื่นสามารถเข้าไปเพียงเที่ยววันหยุด

ไม่มีความคิดเห็น:

Hatyai Car-free day 2020

หาดใหญ่ คาร์ฟรีเดย์ 22 กันยายน 2563