สารบัญ

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทางเลือกของการเดินทางในโลกที่น้ำมันไม่มีวันถูกเหมือนเดิมนั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าจักรยาน ซึ่งในทางวิศวกรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลที่บรรลุจุดสมบูรณ์สุดแล้ว (การพัฒนาจักรยานในระยะหลังเป็นเรื่องของวัสดุศาสตร์ คือหาวัสดุที่เบาและแข็งแรงมาแทนวัสดุที่หนักเท่านั้น)

แชร์มาจาก http://www.facebook.com/kasian.tejapira  ขอบคุณครับ

ใต้หมวกเคาบอย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  มติชนรายวัน  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11062
ปลัดกระทรวงมหาดไทยแนะนำผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ขี่ม้าไปทำงานแทนนั่งรถเก๋ง เพื่อประหยัดน้ำมัน
ผมเดาเอาเองว่า ในทรรศนะของท่านปลัด เมื่อผู้ว่าฯขี่ม้า, รองผู้ว่าฯก็คงต้องขี่บ้าง ในที่สุดข้าราชการผู้ใหญ่ระดับจังหวัด ก็คงขี่ม้าไปทำงานกันทุกคน นายอำเภอจึงเดือดร้อนพอที่จะต้องไปซื้อม้ามาขี่บ้าง แล้วปลัดอำเภอตลอดจนเสมียนอำเภอชั้นผู้ใหญ่ ก็คงพากันขี่ม้ากันขวักไขว่ ร้อนถึงคหบดีในจังหวัดและอำเภอ ต้องใช้ม้าในการเดินทางเหมือนกัน
ปีหนึ่งๆ เราจะประหยัดน้ำมันไปได้เท่าไร ลองคิดดูเถิดครับ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีขี้ม้าเต็มเมือง เป็นภาระอย่างหนักแก่คนกวาดถนน และบรรดาลูกน้องของนายกเทศมนตรี ซึ่งก็ขี่ม้าเหมือนกัน
คนไทยคุ้นเคยกับม้าเฉพาะที่อยู่บนจอหนังเคาบอย แต่น้อยคนที่คุ้นเคยกับม้าจริง เพราะจะใช้ม้าหรือไม่ใช้ม้าในสังคมโบราณ ไม่ได้อยู่ที่มีม้าให้ใช้หรือไม่เท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าอยู่ที่การจัดองค์กรทางสังคมต่างหาก (เรื่องนี้จะพูดถึงข้างหน้า)
แต่แม้การจัดองค์กรทางสังคมในสมัยปัจจุบัน ก็ใช่ว่าการใช้ม้าจะเป็นไปได้แก่คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ก็ตาม
เริ่มแรกก็ขี้ม้าอย่างที่พูดไปแล้วซึ่งมองไม่เห็นบนจอหนังฮอลลีวู้ด เพราะม้าเคาบอยไม่เคยขี้ นอกจากนี้ ม้าเคาบอยแทบไม่เคยกินหญ้าเลย แต่ม้านอกจอหนังต้องกิน ซ้ำม้าพันธุ์ที่สวยๆ (ซึ่งเคาบอยใช้ขี่ในหนัง) ยังดัดจริตกินหญ้าพันธุ์ซึ่งต้องมีทุ่งปลูกไว้เลี้ยงมันด้วย
ม้าเคาบอย โดยเฉพาะของพระเอกไม่ต้องผูก กระโดดลงจากหลังม้าแล้วก็ปล่อยเลย จะขี่อีกเมื่อไร ก็ใช้โทรศัพท์มือถือ อุ๊บไม่ใช่ ก็เป่าปากเปี๊ยว ม้าก็วิ่งมาหา แต่พระเอกกับม้านั้นผูกพันกันมาก เพราะพระเอกมีอาชีพ (เป็นเคาบอย, เป็นนักการพนัน, เป็นนักล่าหัวเอาเงินรางวัล, เป็นนักบุกเบิก ฯลฯ) ที่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ม้า จนกลายเป็นเพื่อนกัน
ผมไม่คิดว่าผู้ว่าฯ, รองผู้ว่าฯ, สรรพากรจังหวัด, นายอำเภอ, ปลัดอำเภอ, คหบดี ฯลฯ จะมีเวลาดูแลใกล้ชิดม้าได้มากนัก เพราะต้องทำงานอย่างอื่นๆ ที่เคาบอยไม่เคยทำ แต่ละคนจึงต้องมีคนเลี้ยงม้าไว้คนหนึ่งเป็นอย่างน้อย
และแค่ดูแลเอาใจใส่ม้าให้มีสุขภาพแข็งแรง, ขับขี่ได้ตามประสงค์ทั้งใกล้และไกล รวมทั้งปลอดภัย, อารมณ์ดี, สะอาดสะอ้าน ฯลฯ ก็หมดเวลาทำงานไปแล้ว จะเอาคนเลี้ยงม้าไปช่วยนังแจ๋วซักกางเกงในคุณนาย หรือจ่ายตลาดไม่ได้
ฝรั่งคนหนึ่งเขียนจดหมายมายังหนังสือพิมพ์ฝรั่งในกรุงเทพฯ ฉบับหนึ่ง ประมาณว่าม้าหนึ่งตัวต้องเสียค่าดูแลรักษา 8,000 บาทต่อเดือน ผมไม่ทราบว่าตัวเลขนี้เชื่อถือได้หรือไม่ แต่ตัวเลขนี้ยังไม่รวมเงินเดือนของคนเลี้ยงม้าด้วยนะครับ ฉะนั้น ถ้าไม่คิดค่าน้ำมันแล้ว การเลี้ยงรถเก๋งตัวหนึ่งจึงราคาถูกกว่ากันมากเลย
(เช่นเดียวกับการเลี้ยงควายไว้ขี่ โดยไม่ได้ทำนา ก็แพงเหมือนกัน ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ในการเลี้ยงสัตว์สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ไม่เหมือนรถเก๋ง จะเลกซัสหรือวอลโว่ก็ราคาค่าเลี้ยงดูต่อตัวพอๆ กัน)
ในยุโรปโบราณ และในญี่ปุ่นโบราณ ม้าไม่ได้เป็นพาหนะของทุกคน เฉพาะชนชั้นอัศวินและซามูไรเท่านั้น ที่มีสิทธิใช้ม้าเป็นพาหนะได้ แต่ถึงไม่ห้ามไว้ ผมเข้าใจว่าคนอื่นก็คงไม่อยากขี่ม้าเท่าไรนัก เพราะอัศวินมีม้าได้ไม่ใช่เพราะมีสิทธิเฉยๆ แต่อัศวินมีอำนาจ (ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ) ที่จะมีลูกน้อง หรือที่เรียกว่า Page ไว้คอยดูแลม้าและดูแลตัวเองด้วย อย่างที่ดอนกิโฮเต้มีซานโชปานซา
และการดูแลรักษาม้า (ตลอดจนตัวอัศวิน-ซามูไรเอง) เป็น "วิชา" อย่างหนึ่ง ซึ่งต้องฝึกหัดเล่าเรียน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องลงทุนด้านการศึกษาเพื่อสร้างคนเหล่านี้ขึ้น
ฉะนั้น จึงเกี่ยวข้องกับการจัดองค์กรทางสังคม ถ้าไม่ใช่เคาบอยหรือชนเผ่ามองโกล ซึ่งใช้ม้าทำมาหากินแล้ว จำเป็น?ต้องจัดองค์กรทางสังคมเพื่อให้มีแรงงานสำหรับรับการศึกษาด้านนี้
การจัดองค์กรทางสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ไม่ได้จัดแรงงานเพื่อการนี้ แท้จริงแล้ว ไม่ได้จัดให้เกิด "ชนชั้นนักรบ" ขึ้นด้วยซ้ำ ฉะนั้น เราจึงใช้ม้าน้อย มีหลักฐานว่าราชสำนักซื้อม้าดีๆ จากต่างประเทศมาใช้สำหรับแห่เสด็จ แต่ก็มักปล่อยให้ตายไปเพราะเลี้ยงดูไม่เป็นเสียมากมาย ต้องสั่งซื้อเข้ามาอีกบ่อยๆ หรือบางทีก็จ้างทหารต่างชาติดูแลกองม้าไว้แห่เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงภูมิประเทศของอยุธยาที่ไม่เหมาะกับการใช้ม้าด้วย
ไพร่ไทยถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน มากกว่าไปฝึกทำอะไรเฉพาะเพื่อการนี้ เราเลี้ยงช้างและฝึกช้างเก่ง และมีคนที่ถูกใช้งานเพื่อช้างอยู่ไม่น้อย แต่คนที่สามารถใช้ช้างเป็นพาหนะที่ไม่เกี่ยวกับการทำมาหากินมีน้อยมาก คนที่มีช้างส่วนใหญ่คือพ่อค้าหรือใช้ช้างทำงานเป็นส่วนหนึ่งในอาชีพของตัว
เปรียบเทียบกับการจัดองค์กรทางสังคมของพม่า ผมคิดว่าวิธีของพม่าทำให้เกิดการจัดคนประเภทหนึ่ง ที่สามารถรับการศึกษาเพื่องานเฉพาะเช่นเลี้ยงรักษาม้าได้มากกว่า และทำให้กองม้าในกองทัพพม่า มีความสำคัญกว่าในกองทัพไทยเป็นอันมาก เพราะพม่าเกือบจะมี "ชนชั้นทหาร" ในสังคม (ที่เรียกว่า Ahmudan ในขณะที่ไพร่ซึ่งถูกจัดว่าเป็น "ทหาร" และ "พลเรือน" ในกฎหมายไทย ไม่มีอะไรต่างกัน)
ทั้งหมดที่พูดมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าไม่ลึกซึ้งอะไร หากปลัดกระทรวงมหาดไทยนั่งลงค่อยๆ คิดไป ก็จะเห็นเหมือนผมว่า ไม่มีวิถีชีวิตและการจัดองค์กรทางสังคมของโลกสมัยใหม่รองรับม้าเป็นพาหนะในการเดินทางเสียแล้ว ม้าจึงเป็นกีฬาสำหรับคนรวยเล่นไม่กี่คน คนส่วนใหญ่เล่นม้าได้แค่ "แทง" ว่าตัวไหนจะเข้าวินเท่านั้น
และถ้านั่งลงคิดให้ทะลุมาถึงตรงนี้ได้ ก็จะคิดต่อไปได้ว่า ทางเลือกของการเดินทางในโลกที่น้ำมันไม่มีวันถูกเหมือนเดิมนั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าจักรยาน ซึ่งในทางวิศวกรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลที่บรรลุจุดสมบูรณ์สุดแล้ว (การพัฒนาจักรยานในระยะหลังเป็นเรื่องของวัสดุศาสตร์ คือหาวัสดุที่เบาและแข็งแรงมาแทนวัสดุที่หนักเท่านั้น)
แต่จักรยานไม่เป็นที่นิยมในสังคมไทย
เพราะอะไร? ในฐานะคนที่ใช้จักรยานเป็นประจำ ผมรู้ว่ามีสาเหตุหลายอย่าง แต่ก็คงไม่หมด เพราะไม่เคยลงไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้จริง แต่ปลัดกระทรวงย่อมสามารถใช้ลูกน้องทำวิจัยได้ และคงพบปัจจัยสำคัญๆ อีกหลายอย่างที่ผมไม่รู้
และจากความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาจริงนี่แหละ ที่ปลัดกระทรวงจะสามารถสั่งผู้ว่าฯให้แก้ไขหรือสร้างเสริม เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมการใช้จักรยานสำหรับการเดินทางในเขตเมืองขึ้นได้
เช่น คนจำนวนมากที่ผมคุยด้วย อยากขี่จักรยานแต่ไม่กล้า เพราะเมืองเราไม่มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยจริง ในเมืองจีนซึ่งนิยมใช้จักรยานมาก (ก่อนที่จะกลายเป็นทุนนิยมไป) ถนนทุกสายมีเส้นทางจักรยาน ซึ่งมีรั้วเหล็กกันไว้แข็งแรงตรงกลางถนน ในญี่ปุ่นซึ่งถนนรนแคมแคบเหมือนเมืองในต่างจังหวัดของเรา เขาออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้ขี่จักรยานขึ้นมาขี่บนทางเท้าได้ และปรับทางเท้าให้ขี่จักรยานได้ตลอด รวมทั้งจัดที่จอดจักรยานไว้ตามสถานีรถไฟด้วย
คนอีกมากที่ผมคุยด้วยห่วงสุขภาพของตนเองที่ต้องสูดดมควันดำตลอดทาง อันนี้ก็แก้ได้ด้วยการเร่งรัดให้กรมการขนส่งทางบก และตำรวจจราจรเอาจริงกับรถควันดำ (หรือควันสีอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพพอๆกัน)
ยังทำอะไรอื่นๆ ได้อีกมากนะครับ ที่จะทำให้การขี่จักรยาน เป็นการเดินทางที่ได้เปรียบกว่าพาหนะทุกชนิด ถ้านั่งลงคิดให้ตลอด
และหากคิดให้ตลอดแล้ว ปลัดกระทรวงก็อาจทำบันทึกผ่านรัฐมนตรีไปถึง ครม.เลยก็ได้ว่า อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยควรมีโรงงานผลิตจักรยานที่สามารถผลิตจักรยานใช้งานได้จริง (ไม่ใช่คันนิดเดียวแต่หนักเกือบ 20 กก. อย่างที่ขายหลอกเด็กอยู่ในทุกวันนี้) และสามารถส่งออกได้ จะทำอย่างไรจึงจะเกิดบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนเช่นนี้บ้าง
จักรยานเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลางๆ และทุนกลางๆ (ไม่ใช่จักรยานแข่งนะครับ) ซึ่งเหมาะกับไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทที่ไม่ใช่รับจ้างทำของ ก่อให้เกิดการจ้างงานที่พอเหมาะกับความรู้ความสามารถของแรงงานไทย ทั้งในโรงงานและในภาคประชาชนที่ต้องมีช่างให้บริการจักรยาน
จะเกิดตลาดภายในเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไร
ผมไม่ใช่ปลัดกระทรวง จึงได้แต่คิดว่าจักรยานน่าจะเหมาะกว่าม้าเป็นไหนๆ แล้วก็ผ่าคิดต่อไปในเรื่องที่ทำให้ตระหนกอย่างยิ่งด้วย
เรากำลังอยู่ในโลกที่น้ำมันดิบต้องมีราคาเกิน 100 เหรียญ (และอาจถึง 200 เหรียญ) ไทยไม่มีกำลังไปทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงได้ แต่เรามีกำลังที่จะเตรียมตัวสำหรับอยู่ในโลกอย่างนั้นได้แน่ อยู่แต่ว่าสังคมของเราต้องถูกชักนำไปสู่การเตรียมตัวสำหรับโลกที่ขาดแคลนพลังงาน บางอย่างก็อาจทำได้ง่ายๆ บางอย่างก็ต้องผ่านความเจ็บปวดบ้างเป็นธรรมดา
แต่ใครเล่าครับที่จะชักนำสังคมของเราให้เตรียมตัวได้ ระบบราชการคิดได้แค่หนังเคาบอย (ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า ระบอบอมาตยาธิปไตยไม่ใช่คำตอบของสังคม) ในขณะที่รัฐบาลและนักการเมืองคิดได้แค่ครอบงำสื่อ หรือเอ็นจีวี
ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้นะครับ รัฐบาลไทยทุกชุดคิดอะไรได้ไม่เกินปลายจมูกทั้งนั้น ยกเว้นแต่รัฐบาล ทรท. เสียแต่ว่าพอคิดเลยปลายจมูกออกมาก็ไปติดที่ปาก
คิดแล้วหนาวนะครับ คนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานครั้งใหญ่ ซึ่งจะกระทบต่อวิถีชีวิต, การจัดองค์กรทางสังคม, เศรษฐกิจ, และวัฒนธรรมหลายต่อหลายด้าน โดยไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมจะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนั้นเลย การก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยไม่เตรียมตัว คือการเปิดให้บาดแผลซึ่งมีอยู่ในทุกสังคมบาดลึกลงไปมากขึ้น เช่นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยทนได้ แต่บาดแผลที่บาดลึกขึ้นอาจทำให้ทนต่อไปไม่ได้
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย
หน้า 6

ไม่มีความคิดเห็น:

Hatyai Car-free day 2020

หาดใหญ่ คาร์ฟรีเดย์ 22 กันยายน 2563